ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน:ไข้เลือดออก  (อ่าน 189 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 242
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน:ไข้เลือดออก
« เมื่อ: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 18:58:12 น. »
หมอประจำบ้าน: ไข้เลือดออก

เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากสุดในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และ 0-4 ปีตามลำดับ
โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี และทั่วทุกภาค โดยจำนวนผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตอนต้นเดือนพฤษภาคม จนมีจำนวนสูงสุดในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูฝน แล้วเริ่มมีแนวโน้มลดลงตอนปลายเดือนตุลาคม โรคนี้มีแนวโน้มเกิดการระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (dengue virus) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 2, 3 และ 4

โดยทั่วไปเมื่อได้รับเชื้อไวรัสเด็งกีเข้าไปครั้งแรก (สามารถติดเชื้อตั้งแต่อายุได้ 6 เดือนขึ้นไป) โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 3-15 วัน (ส่วนมาก 5-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงคล้ายไข้หวัดใหญ่อยู่ 5-7 วัน และส่วนมากจะไม่มีอาการเลือดออก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีเลือดออก หรือมีอาการรุนแรง เรียกว่า ไข้เด็งกี (dengue fever/DF)*

ต่อมาเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อซ้ำอีก (ซึ่งอาจเป็นเชื้อเด็งกีชนิดเดียวกัน หรือคนละชนิดกับที่ได้รับครั้งแรกก็ได้ และมีระยะฟักตัวสั้นกว่าครั้งแรก) ร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาทำให้หลอดเลือดฝอยเปราะ และเกล็ดเลือดต่ำ จึงทำให้พลาสมา (น้ำเลือด) ไหลซึมออกจากหลอดเลือด (ตรวจพบระดับฮีมาโตคริตสูง มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง) และมีเลือดออกง่าย เป็นเหตุให้เกิดภาวะช็อก

โดยทั่วไปการติดเชื้อครั้งหลัง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง มักจะเกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 6 เดือนถึง 5 ปี มักจะทิ้งช่วงไม่เกิน 5 ปี ด้วยเหตุนี้ไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรง จึงมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีมากกว่าในวัยอื่น

โรคนี้มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค กล่าวคือ ยุงลายจะกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกก่อน แล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียง (ในรัศมีไม่เกิน 400 เมตร) ก็จะแพร่เชื้อให้คนอื่น ๆ ต่อไป ยุงชนิดนี้ชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ จานรองตู้กับข้าว แจกัน ฝากะลา กระป๋อง หลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น เป็นยุงที่ออกหากิน (กัดคน) ทั้งในกลางวันและกลางคืน

ยุงลาย

* ไข้เด็งกี (dengue fever) เกิดจากการติดเชื้อเด็งกีครั้งแรกในชีวิต ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จัดว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ซึ่งมักหายได้เองเป็นส่วนใหญ่แม้จะไม่ได้ใช้ยา หรือเพียงให้ยาบรรเทาตามอาการ เนื่องเพราะเป็นการติดเชื้อไวรัสซึ่งไม่มียารักษาจำเพาะ

อาการที่พบได้ก็คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยมักไม่มีอาการเป็นหวัดเจ็บคอแบบไข้หวัด ผู้ป่วยอาจมีผื่นแดงเล็กคล้ายหัดขึ้นตามตัว (ซึ่งบางรายอาจมีอาการคัน) บางรายอาจมีจุดแดง (จุดเลือดออก) ตามผิวหนัง

บางรายเมื่อทำการทดสอบทูร์นิเคต์อาจให้ผลบวก การตรวจเลือดพบว่าเม็ดเลือดขาวต่ำ และบางรายอาจพบเกล็ดเลือดต่ำ

โรคนี้มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยที่ผู้ป่วยอาจรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือหากไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะวินิจฉัยจากอาการ (โดยไม่ได้ทำการทดสอบทูร์นิเคต์ และไม่ได้ตรวจเลือด) ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ (เช่น ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้ซิกา) เพียงให้การรักษาตามอาการและติดตามสังเกตอาการ ซึ่งมักจะไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นไข้เด็งกี

ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อเด็งกีครั้งแรก จึงมักจะไม่รู้ว่าตัวเองเคยติดเชื้อเด็งกี หากในเวลาต่อมาเกิดการติดเชื้อเด็งกีซ้ำ ก็จะกลายเป็นไข้เลือดออกได้

อาการ

อาการของไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน ซึ่งมักมีลักษณะไข้สูงลอยตลอดเวลา หรือกินยาลดไข้ก็มักจะไม่ทุเลา

มักมีอาการหน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย นอนซม เบื่ออาหาร

บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องในบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา หรือปวดท้องทั่วไป ท้องผูกหรือถ่ายเหลว

ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอมากอย่างผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือออกหัด แต่บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงเล็กน้อย หรือไอบ้างเล็กน้อย

ในราววันที่ 3 ของไข้ อาจมีผื่นแดงขึ้นตามแขนขาและลำตัว ซึ่งจะเป็นอยู่ 2-3 วัน บางรายอาจมีจุดเลือดออก มีลักษณะเป็นจุดแดงเล็ก ๆ (บางครั้งอาจมีจ้ำเขียวด้วยก็ได้) ขึ้นตามหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก (เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้นไก่)

ในระยะนี้อาจคลำพบตับโต และมีอาการกดเจ็บเล็กน้อย

การทดสอบทูร์นิเคต์* ส่วนใหญ่จะให้ผลบวกตั้งแต่วันที่ 2 ของไข้ และในวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว มักจะพบมีจุดเลือดออกมากกว่า 10-20 จุดเสมอ

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากไข้ก็จะลดลงในวันที่ 5-7 บางราย อาจมีไข้เกิน 7 วันได้

แต่ถ้าเป็นมาก ก็จะปรากฏอาการระยะที่ 2

ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก มักจะพบในไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเด็งกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4

อาการจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของโรค ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤติของโรค

อาการไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีอาการปวดท้องและอาเจียนบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว (อาจมากกว่า 120 ครั้ง/นาที) และความดันต่ำ ซึ่งเป็นอาการของภาวะช็อก ภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพลาสมาไหลซึมออกจากหลอดเลือด ทำให้ปริมาตรของเลือดลดลงมาก ถ้าเป็นรุนแรงผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว ตัวเย็นชืด ปากเขียว ชีพจรคลำไม่ได้ และความดันตกจนวัดไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจตายได้ภายใน 1-2 วัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีน้ำมันดิบ ๆ ถ้าเลือดออกมักทำให้เกิดภาวะช็อกรุนแรง และผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว

ระยะที่ 2 นี้จะกินเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง ถ้าหากผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤติไปได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว ในรายที่มีภาวะช็อกไม่รุนแรง เมื่อผ่านช่วงวิกฤติไปแล้วก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกรุนแรง เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ อาการที่ส่อว่าดีขึ้นก็คือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากกินอาหาร แล้วอาการต่าง ๆ จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ระยะนี้อาจกินเวลา 7-10 วัน หลังผ่านระยะที่ 2

รวมเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยเป็นไข้จนแข็งแรงดีประมาณ 7-14 วัน ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย อาจเป็นอยู่ 3-4 วันก็หายได้เอง ส่วนอาการไข้ (ตัวร้อน) อาจเป็นอยู่ 2-7 วัน บางรายอาจนาน 10 วันก็ได้

ความรุนแรงของไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกแบ่งระดับความรุนแรงเป็น 4 ขั้น ได้แก่

ขั้นที่ 1 (เกรด 1) มีไข้และมีอาการแสดงทั่ว ๆ ไปที่ไม่เฉพาะเจาะจง อาการแสดงของการมีเลือดออกมีเพียงอย่างเดียว คือ มีจุดแดง ๆ ตามผิวหนังโดยไม่มีอาการเลือดออกอย่างอื่น ๆ และการทดสอบทูร์นิเคต์ให้ผลบวก

ขั้นที่ 2 (เกรด 2) มีอาการเพิ่มจากขั้นที่ 1 คือ มีเลือดออกเอง อาจออกเป็นจ้ำเลือดที่ใต้ผิวหนัง หรือเลือดออกจากที่อื่น ๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด แต่ยังไม่มีภาวะช็อก ชีพจรและความดันโลหิตยังปกติ

ขั้นที่ 3 (เกรด 3) มีอาการแสดงของภาวะช็อก เช่น กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น เหงื่อออก ชีพจรเร็วและเบา ความดันต่ำ หรือมีความแตกต่างระหว่างความดันช่วงบนและความดันช่วงล่าง ซึ่งเรียกว่า แรงชีพจร** (pulse pressure) น้อยกว่า 30 มม.ปรอท (เช่น ความดันช่วงบน 80 ช่วงล่าง 60)

ขั้นที่ 4 (เกรด 4) มีภาวะช็อกอย่างรุนแรง ชีพจรเบาและเร็วจนจับไม่ได้ ความดันตกจนวัดไม่ได้ และ/หรือมีเลือดออกมาก เช่น อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดมาก

ไข้เลือดออกที่มีความรุนแรง ถึงขั้นที่ 3 และ 4 พบได้ประมาณร้อยละ 20-30 ที่เหลืออีกร้อยละ 70-80 จะแสดงอาการในขั้นที่ 1 และ 2

การเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยตามขั้นต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเปลี่ยนจากขั้นที่ 2 มาขั้น 3 และ 4 ควรจับชีพจร วัดความดันโลหิต และถ้าเป็นไปได้ควรตรวจหาความเข้มข้นของเลือดโดยการเจาะเลือดตรวจฮีมาโทคริต และตรวจนับคำนวณเกล็ดเลือดเป็นระยะ

*การทดสอบทูร์นิเคต์ (tourniquet test) โดยใช้เครื่องวัดความดันรัดเหนือข้อศอกของผู้ป่วยด้วยค่าความดันกึ่งกลางระหว่างความดันช่วงบนและความดันช่วงล่างของคนคนนั้น (ความดันช่วงบนบวกความดันช่วงล่างหารสอง) เป็นเวลานาน 5 นาที
ถ้าไม่มีเครื่องวัดความดัน ให้ใช้ยางหนังสติ๊กรัดเหนือข้อศอกให้แน่นเล็กน้อย (ยังพอคลำชีพจรที่ข้อมือได้) นาน 5 นาที
ถ้าพบมีจุดเลือดออก (จุดแดง) เกิดขึ้นที่บริเวณท้องแขนใต้ตำแหน่งที่รัดเป็นจำนวนมากกว่า 10 จุดในวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว (เท่ากับเหรียญบาทโดยประมาณ) แสดงว่าการทดสอบได้ผลบวก ถ้าน้อยกว่า 10 จุดก็ถือว่าได้ผลลบ
ในผู้ป่วยไข้เลือดออก การทดสอบนี้จะได้ผลบวกได้มากกว่าร้อยละ 80 ตั้งแต่เริ่มมีไข้ได้ 2 วันเป็นต้นไป ใน 1-2 วันแรกอาจให้ผลลบ
คนที่เป็นโรคเลือดที่มีเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ไอทีพี โลหิตจางอะพลาสติก หรือคนที่เป็นไข้หวัด หรือไข้อื่น ๆ ก็อาจให้ผลบวกได้เช่นกัน
ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีภาวะช็อก การทดสอบนี้อาจให้ผลลบได้

การทดสอบทูร์นิเคต์

**แรงชีพจร (ความดันชีพจร) ในคนปกติจะอยู่ระหว่าง 30-50 มม.ปรอท ถ้าน้อยกว่า 30 เรียกว่า “แรงชีพจรแคบ” เช่น 120/100, 90/70, 80/70 เป็นต้น ถ้ามากกว่า 50 เรียกว่า “แรงชีพจรกว้าง” เช่น 160/90, 150/70 เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

ที่ร้ายแรงถึงทำให้เสียชีวิตได้ ได้แก่ ภาวะเลือดออกรุนแรง (ถ้ามีเลือดออกในกระเพาะอาหารจำนวนมาก หรือมีเลือดออกในสมอง มักมีอัตราตายสูง) ภาวะช็อก และภาวะอวัยวะล้มเหลว (เช่น ตับวาย ไตวาย หัวใจวาย การหายใจล้มเหลว) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกอยู่นาน

นอกจากนี้ อาจเป็นปอดอักเสบ (อาจมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) สมองอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแทรกซ้อนได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

ผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ทารกเสียชีวิตในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด หรือทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย

ในกรณีที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกได้รับน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำมากไป อาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) เป็นอันตรายได้ ดังนั้นเวลาให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ควรตรวจดูอาการอย่างใกล้ชิด

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

สิ่งตรวจพบที่สำคัญ ได้แก่ ไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส ซึ่งมักจะเป็นอยู่ตลอดเวลา) หน้าแดง เปลือกตาแดง นอนซม

อาจคลำได้ตับโต กดเจ็บ มีผื่นแดงหรือจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว การทดสอบทูนิเคต์ให้ผลบวก (อาจให้ผลลบในวันแรก ๆ ของไข้)

ในรายที่เป็นรุนแรง (มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ4) จะตรวจพบภาวะช็อก (มีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น เหงื่อออก ชีพจรเร็วและเบา ความดันต่ำหรือมีความแตกต่างระหว่างความดันช่วงบนและความดันช่วงล่างน้อยกว่า 30 มม.ปรอท) บางรายอาจตรวจพบอาการเลือดออก (เช่น เลือดกำเดาไหลอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด)

ในรายที่ยังวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกายไม่ได้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจเลือด พบเม็ดเลือดขาวมีจำนวนต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 5,000 เซลล์ต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร), เกล็ดเลือดมีจำนวนต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 150,000 ตัวต่อเลือด 1ลูกบาศก์มิลลิเมตร), ฮีมาโทคริต (ซึ่งวัดระดับความเข้มของเลือด) สูงกว่าปกติ เนื่องจากพลาสมาไหลซึมออกจากหลอดเลือด ทำให้ปริมาตรของเลือดลดลง

ในการวินิจฉัยโรคนี้ให้ชัดเจน แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อในเลือด (ด้วยวิธี NS1 หรือ PCR ซึ่งจะให้ผลที่ดีสำหรับผู้ที่มีอาการไข้ 1-3 วัน) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้ตั้งแต่ 4 วันขึ้นไป แพทย์อาจทำการทดสอบทางน้ำเหลือง เพื่อดูสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไข้เลือดออกโดยวิธี ELISA (สามารถทราบผลจากการตรวจเพียงครั้งเดียว) หรือวิธี hemagglutination inhibition (HI ซึ่งต้องตรวจ 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าอาการไม่รุนแรง (มีอาการในขั้นที่ 1) คือเพียงแต่มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร โดยยังไม่มีอาการเลือดออกหรือมีภาวะช็อก จะให้การรักษาตามอาการ ดังนี้

ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ
หากมีไข้สูง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ และให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล คำนวณขนาดตามน้ำหนักตัวหรือตามอายุ ให้ได้ไม่เกิน 4 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ห้ามให้แอสไพริน เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น หรืออาจทำให้เกิดโรคเรย์ซินโดรมได้ และห้ามให้ยาลดไข้กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ให้ยาลดไข้ บางครั้งไข้ก็อาจจะไม่ลดก็ได้ ระวังอย่าให้พาราเซตามอลถี่กว่ากำหนด อาจมีพิษต่อตับได้
ให้อาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นม น้ำหวาน
ให้ดื่มน้ำมาก ๆ จนปัสสาวะออกมากและใส อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำอัดลม (ควรเขย่าฟองออกก่อน) หรือสารละลายน้ำตาล เกลือแร่
เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด อาจต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจดูอาการทุกวัน ตรวจจับชีพจร วัดความดัน และตรวจดูอาการเลือดออก รวมทั้งทดสอบทูร์นิเคต์ ถ้าวันแรก ๆ ให้ผลลบ ก็จะทำซ้ำในวันต่อ ๆ มา

2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก มีภาวะขาดน้ำ ช็อก หรือเลือดออก (มีอาการในขั้นที่ 2-4) แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการเจาะเลือดตรวจวัดระดับฮีมาโทคริต (ดูความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ ๆ ถ้าเลือดข้นมากไป เช่น ฮีมาโทคริตมีค่ามากกว่า 50% ขึ้นไป ก็แสดงว่าปริมาตรของเลือดลดน้อย) นับจำนวนเม็ดเลือดขาว และจำนวนเกล็ดเลือด (พบว่าต่ำกว่าปกติทั้งคู่ เกล็ดเลือดจะเริ่มต่ำประมาณวันที่ 3-4 ของไข้ โรคยิ่งรุนแรงเกล็ดเลือดจะยิ่งต่ำมาก)

นอกจากนี้ อาจทำการตรวจอื่น ๆ เช่น อิเล็กโทรไลต์ในเลือด ตรวจการทำงานของตับ (มักพบ AST และ ALT สูง) ตรวจภาวะการแข็งตัวของเลือด (congulation study) ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด เป็นต้น

แพทย์จะทำการรักษา โดยให้น้ำเกลือรักษาภาวะช็อกหรือภาวะขาดน้ำ ถ้าจำเป็นอาจให้พลาสมาหรือสารแทนพลาสมา (เช่น แอลบูมินหรือเดกซ์แทรน) ให้เลือดถ้ามีเลือดออก และรักษาภาวะแทรกซ้อนที่ตรวจพบ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายได้เป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนน้อยมากที่อาจเสียชีวิต (เฉลี่ยในผู้ป่วย 1,000 คน มีการเสียชีวิตประมาณ 1 คน) จากภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เลือดออกรุนแรง มีภาวะช็อก อวัยวะล้มเหลว (เช่น ตับวาย ไตวาย หัวใจวาย การหายใจล้มเหลว) มีการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น ผู้ที่เสียชีวิตมักมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว (เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น) อายุต่ำกว่า 1 ปี กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) เข้ารับการรักษาช้า หรือปล่อยให้มีอาการรุนแรงค่อยมาพบแพทย์

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้สูงหรือมีไข้ตลอดเวลาร่วมกับอาการเบื่ออาหาร นอนซม หรือมีไข้ในช่วงที่มีคนในละแวกใกล้เคียงเป็นไข้เลือดออก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
กินยาลดไข้-พาราเซตามอลตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร แม้ว่ากินยาแล้วไข้ไม่ยอมลดก็ห้ามกินถี่กว่าที่แนะนำ เพราะการใช้ยานี้มากเกินอาจมีพิษต่อตับได้
หลีกเลี่ยงการซื้อยาใช้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาลดไข้-แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) เพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย
ให้อาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นม น้ำหวาน (ควรหลีกเลี่ยงน้ำที่มีสีแดง เพราะหากอาเจียนอาจทำให้แยกไม่ออกว่าเป็นการอาเจียนออกเป็นเลือดหรือเป็นน้ำที่ดื่ม)
ให้ดื่มน้ำมาก ๆ จนปัสสาวะออกมากและใส อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำอัดลม (ควรเขย่าฟองออกก่อน และหลีกเลี่ยงน้ำที่ออกสีเข้ม) หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการหนาวสั่นมาก
ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก กระสับกระส่าย หรือซึมมาก
หายใจหอบ
ปวดท้องตรงยอดอกหรือลิ้นปี่
ซีด ตาเหลืองตัวเหลือง เบื่ออาหารมาก หรือดื่มน้ำได้น้อย
มือเท้าเย็นชืด มีเหงื่อออกและท่าทางไม่สบายมาก
มีจุดแดงจ้ำเลือดขึ้นตามตัว
มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น

ปิดฝาโอ่งน้ำหรือภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้ ด้วยฝาอะลูมิเนียม ผ้า ตาข่ายไนล่อน หรือวัสดุอื่น
เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 7 วัน สำหรับแจกันพลูด่างต้องใช้น้ำชะล้างไข่หรือลูกน้ำที่เกาะติดตามรากพลูด่างและข้างในแจกัน
เปลี่ยนน้ำในจานรองตู้กับข้าวทุก 7 วัน หรือใส่น้ำเดือดลงไปในจานรองตู้กับข้าวทุก 7 วัน หรือใส่น้ำส้มสายชู ผงซักฟอก หรือเกลือแกงในน้ำที่อยู่ในจานรองตู้ (ใช้เกลือขนาด 2 ช้อนชา/น้ำ 1 แก้ว)
จานรองกระถางต้นไม้ ควรใส่ทรายธรรมดาให้ลึก 3 ใน 4 ส่วนของจานขนาดใหญ่ หรือเทน้ำที่ขังอยู่ในจานขนาดเล็กทิ้งทุก 7 วัน
ควรเก็บกระป๋อง ฝาขวด (ฝาเบียร์) กะลา ยางรถยนต์เก่า ๆ หรือสิ่งที่จะเป็นที่ขังน้ำ ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน โรงเรียน และแหล่งชุมชน ทำลายหรือฝังดินให้หมด
ยางรถยนต์เก่าถ้าไม่โยนทิ้งควรหาทางปกคลุม หรือเจาะรูระบายไม่ให้น้ำขัง หรือนำมาทำเป็นที่ปลูกต้นไม้หรือพืชผักสวนครัว เครื่องใช้ (เช่น ที่ทิ้งขยะ เก้าอี้) แต่จะต้องดัดแปลงยางรถยนต์ให้ขังน้ำไม่ได้
ปรับพื้นบ้านและสนามอย่าให้เป็นหลุมเป็นบ่อที่มีน้ำขังได้
กำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยการใส่ทรายอะเบต (abate)* ลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด
เลี้ยงปลาหางนกยูงไว้กินลูกน้ำในภาชนะที่ใส่น้ำสำหรับใช้ (ไม่ใช่น้ำสำหรับบริโภค) ในอ่างบัว หรืออ่างปลูกต้นไม้น้ำ โดยใส่ปลาหางนกยูง 2-10 ตัวต่อภาชนะ ควรใส่เฉพาะปลาตัวผู้เพื่อคุมปริมาณปลาหางนกยูง

2. หาวิธีป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เช่น ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเวลาออกนอกบ้าน, อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด หรือให้เด็กเล็กนอนกางมุ้ง, ใช้ยาทากันยุงทาตามตัวเวลาอยู่ในที่ที่มียุง เป็นต้น

3. ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันโรคไข้เลือดออก มีการรายงานว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนจนครบจำนวน 3 เข็ม (ซึ่งแต่ละเข็มห่างกัน 6 เดือน) สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้เป็นระยะเวลา 5-6 ปี โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคนี้จากเชื้อเด็งกีทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ราวร้อยละ 65 และลดความรุนแรงของโรคได้ราวร้อยละ 93 ทั้งนี้ แพทย์จะฉีดให้เฉพาะผู้ที่เคยติดเชื้อเด็งกีมาก่อน

สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อเด็งกีมาก่อนแพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีด เนื่องจากเมื่อฉีดไปแล้ว หากมีการติดเชื้อเด็งกี มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกที่รุนแรง และการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

เนื่องจากวัคซีนไข้เลือดออกยังมีราคาแพง และมีข้อระมัดระวังในการใช้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการฉีดวัคซีนชนิดนี้

*ใส่ทรายอะเบต (abate) ชนิด 1% ในอัตราส่วน 10 กรัม/น้ำ 100 ลิตร (ตุ่มมังกรขนาด 8 ปีบ ใช้อะเบต 2 ช้อนชา ตุ่มซีเมนต์ขนาด 12 ปีบ ใช้อะเบต 2.5 ช้อนชา) ควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน น้ำที่ใส่ทรายอะเบตสามารถใช้ดื่มกินได้อย่างปลอดภัย

ข้อแนะนำ

1. ไข้เลือดออกมักแยกออกจากไข้หวัดได้ โดยที่ไข้เลือดออกมักไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล อาจมีไข้สูงหน้าแดง ตาแดง หรือมีผื่นขึ้นคล้ายหัด แต่แยกออกจากหัดได้ โดยหัดจะมีน้ำมูกและไอมากและตรวจพบจุดค๊อปลิก

นอกจากนี้อาการไข้สูงโดยไม่มีน้ำมูก ยังอาจทำให้ดูคล้ายไข้ผื่นกุหลาบในทารก ไข้หวัดใหญ่ ไทฟอยด์ มาลาเรีย ตับอักเสบจากไวรัสระยะแรก เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น (ตรวจอาการไข้)

ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจมาด้วยอาการไข้สูงร่วมกับชักก็ได้

ดังนั้นในช่วงฤดูฝนหรือในช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออก ถ้าพบผู้ที่มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ควรทำการทดสอบทูร์นิเคต์ หรือตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ไข้เลือดออกทุกราย

2. ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ

ประมาณร้อยละ 70-80 ของผู้ที่เป็นไข้เลือดออก จะมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เองภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการ และให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะช็อกก็เพียงพอ ไม่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ไม่ต้องฉีดยาให้น้ำเกลือ หรือให้ยาพิเศษแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะและสเตียรอยด์

ประมาณร้อยละ 20-30 ที่อาจมีภาวะช็อกหรือเลือดออก ซึ่งก็มีทางรักษาให้หายได้ด้วยการให้น้ำเกลือหรือให้เลือด มีเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้นอาจรุนแรงมากจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจมีอัตราตายสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

3. ระยะวิกฤติของโรคนี้คือวันที่ 3-7 ของไข้ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหรือเลือดออกได้ ดังนั้นจึงควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าพ้นระยะนี้ไปได้ก็ถือว่าปลอดภัย

4. ผู้ที่เป็นไข้เลือดออกในระยะแรก ถ้ามีอาการปวดท้อง อาเจียนมาก หรือเบื่ออาหาร (ดื่มน้ำได้น้อย) อาจมีภาวะช็อกตามมาได้ ดังนั้นถ้าพบอาการเหล่านี้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรพยายามให้ดื่มน้ำให้มาก ๆ ถ้าดื่มไม่ได้ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

5. เนื่องจากเชื้อไข้เลือดออกมีอยู่หลายชนิด ดังนั้นคนเราจึงอาจติดเชื้อไข้เลือดออกได้หลายครั้ง แต่ส่วนมากจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แล้วหายได้เอง ส่วนน้อยที่อาจเป็นรุนแรงถึงช็อก และแต่ละคนจะมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรงเพียงครั้งเดียว (หรืออย่างมากไม่ควรเกิน 2 ครั้งในชั่วชีวิต) ที่จะเป็นรุนแรงซ้ำ ๆ กันหลายครั้งนั้นนับว่ามีน้อยมาก

6. ผู้ที่เป็นไข้เลือดออก สามารถให้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ควรแยกแยะอาการตัวเย็นจากยาลดไข้ให้ออกจากภาวะช็อก กล่าวคือ ถ้าตัวเย็นเนื่องจากยาลดไข้ ผู้ป่วยจะดูสบายดีและหน้าตาแจ่มใส แต่ถ้าตัวเย็นจากภาวะช็อก ผู้ป่วยจะซึมหรือกระสับกระส่าย

อย่างไรก็ตาม ควรย้ำให้ผู้ป่วยและญาติทราบว่าการใช้ยาลดไข้อาจไม่ทำให้ไข้ลด ถ้าไข้ไม่ลดก็ให้เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น อย่าให้พาราเซตามอลเกินขนาดที่กำหนด ถ้าให้มากไปหรือถี่เกินไป อาจมีพิษต่อตับถึงขั้นอันตรายได้ และอย่าหันไปใช้ยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยี่ห้ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประกอบด้วยยาพาราเซตามอลล้วน ๆ (โดยอ่านดูฉลากยาให้แน่ใจ) เพราะยาแก้ไข้อื่น ๆ อาจมีอันตรายต่อผู้ป่วยไข้เลือดออกได้

7. ในรายที่จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ควรให้ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้น้อยไปหรือมากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีภาวะวิกฤติประมาณ 24-48 ชั่วโมง จำเป็นต้องตรวจวัดระดับฮีมาโทคริต อย่างใกล้ชิด และปรับปริมาณและความเร็วของน้ำเกลือที่ให้ตามความรุนแรงของผู้ป่วย ต้องระวังการให้น้ำเกลือมากหรือเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะปอดบวมน้ำ เป็นอันตรายได้