กีฬาสำหรับคนเป็นโรคหัวใจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น แม้โรคหัวใจอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลใจเมื่อต้องออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง แต่รู้หรือไม่ว่าผู้ป่วยโรคหัวใจเองก็สามารถออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัยหากออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสม
การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อการทำงานของหัวใจ โดยช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจ และลดความเสี่ยงของการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกและกล้ามเนื้อ ลดระดับความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
กีฬาสำหรับคนเป็นโรคหัวใจที่แนะนำ
ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ โดยอาจเริ่มออกกำลังกายที่ความหนักระดับปานกลางเป็นเวลา 10–15 นาที และเมื่อร่างกายปรับสภาพได้ จึงค่อยเพิ่มระยะเวลามากขึ้น
ผู้ป่วยโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกประเภทกีฬาที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อการออกกำลังกาย ซึ่งกีฬาที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น
1. เดินเร็ว
การเดินเร็วช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจในการสูบฉีดเลือด และช่วยลดระดับความดันโลหิต โดยเฉลี่ยแล้ว แนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเดินให้ได้ประมาณ 30–45 นาทีต่อวัน โดยกำหนดวันหยุดพัก 1–2 วันต่อสัปดาห์
หากเพิ่งเริ่มออกกำลังกายด้วยการเดิน ควรเริ่มจากการเดินวันละ 5–10 นาที ไม่ควรเดินเร็วเกินไปจนรู้สึกเหนื่อยหอบ โดยขณะที่เดินยังสามารถพูดคุยได้สบาย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาการเดินวันละ 2–3 นาที ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกเดินออกกำลังกายนอกบ้าน หรือเดินเร็วบนลู่วิ่งไฟฟ้าก็ได้
หากเดินออกกำลังกายนอกบ้าน ควรเดินในระยะที่ไม่ไกลจากบ้าน และสามารถเดินกลับได้ และควรมีเพื่อนเดินไปด้วย เพื่อช่วยเหลือในกรณีที่อาการโรคหัวใจกำเริบ
2. วิ่ง
การวิ่งเพียง 10 นาทีต่อวันอาจช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระตุ้นให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ดี อีกทั้งช่วยลดคอเลสเตอรอล และช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ผู้ป่วยโรคหัวใจที่สนใจการวิ่ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสมรรถภาพของร่างกาย และวิ่งตามคำแนะนำของแพทย์
ในช่วงแรก ผู้ป่วยควรเริ่มจากการวิ่งเหยาะ (Jogging) วันละประมาณ 10 นาที แล้วค่อยเพิ่มระยะเวลาและระยะทางในการวิ่งเมื่อร่างกายปรับสภาพได้แล้ว โดยมีข้อควรระวังคือเลือกรองเท้าวิ่งที่พอดีกับเท้าและรองรับแรงกระแทกจากการวิ่งได้ดี ไม่ควรวิ่งเร็วเกินไป ควรหยุดพักเป็นระยะเมื่อรู้สึกเหนื่อย และหากเลือกวิ่งนอกบ้าน ไม่ควรวิ่งในระยะที่ไกลจากบ้าน
3. ว่ายน้ำ
หัวใจของเราจะทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดขณะอยู่ในน้ำ และเมื่อเริ่มว่ายน้ำ หัวใจจะทำงานหนักขึ้นเนื่องจากแรงต้าน (Resistance) ของน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจจึงเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจ การไหลเวียนเลือด ปอด และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แข็งแรง
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มว่ายน้ำ ซึ่งแพทย์จะประเมินและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่ต้องการว่ายน้ำ หรืออาจแนะนำการออกกำลังกายรูปแบบอื่นให้ตามความเหมาะสม ผู้ป่วยควรเริ่มว่ายน้ำเมื่อไม่มีอาการของโรคหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก และหายใจหอบ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้
ควรว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีครูหรือเจ้าหน้าที่ประจำสระ หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในทะเล หรือแม่น้ำที่อาจมีคลื่นหรือกระแสน้ำแรง
ค่อย ๆ ลงสระบริเวณที่มีน้ำตื้นก่อนเพื่อให้ร่างกายชินกับอุณหภูมิของน้ำ
ไม่ควรหักโหมจนเกินไป ความหนักในการว่ายน้ำควรน้อยกว่าการออกกำลังกายบนบกประเภทอื่น ๆ
ว่ายน้ำในท่าที่ถนัดและว่ายได้สบาย และหลีกเลี่ยงการกระโดดน้ำ กลั้นหายใจใต้น้ำ หรือก้มหน้าอยู่ในน้ำนานเกินไป เพราะอาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
ไม่ควรลงว่ายน้ำหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ ควรรออย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดหัวใจ คุณควรรอให้แผลผ่าตัดบริเวณทรวงอกสมานตัวดีอย่างน้อย 12 สัปดาห์ก่อนว่ายน้ำ
4. กระโดดเชือก
การกระโดดเชือกอย่างต่อเนื่องทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดและออกซิเจนมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจ จึงเป็นกีฬาที่ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นและเพิ่มความจุของปอด ซึ่งทำให้คุณออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้นานขึ้นโดยไม่รู้สึกเหนื่อยง่าย นอกจากนี้ ยังช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคหัวใจที่ต้องการออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับความหนักและระยะเวลาที่เหมาะสมในการกระโดดเชือกที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน
5 กีฬาสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ เตรียมออกกำลังให้ปลอดภัย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/