ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ทริคิโนซิส (Trichinosis/ Trichinellosis)  (อ่าน 11 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 264
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ทริคิโนซิส (Trichinosis/ Trichinellosis)
« เมื่อ: วันที่ 29 พฤศจิกายน 2024, 14:28:04 น. »
หมอประจำบ้าน: ทริคิโนซิส (Trichinosis/ Trichinellosis)

ทริคิโนซิส เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ทริคิเนลลาสไปราลิส (Trichinella spiralis)* ซึ่งมีอยู่ในเนื้อหมูหรือหนู มักพบเป็นพร้อมกันหลายคน ในบ้านเราเคยพบเป็นโรคระบาดทางภาคเหนือหลายครั้ง

 *วงจรชีวิตของพยาธิทริคิเนลลาสไปราลิส

พยาธิทริคิเนลลาสไปราลิสตัวเต็มวัย (ตัวแก่) ตัวผู้มีขนาดยาวประมาณ 1.4-1.6 มม. และตัวเมียยาวประมาณ 3-4 มม. ปกติอาศัยอยู่ในเนื้อหมูหรือหนู เมื่อคน หมู หรือหนูกินเนื้อหมูหรือหนูที่มีซิสต์ของพยาธิ เมื่อตกถึงลำไส้พยาธิตัวอ่อนจะฟักตัวออกมาจากซิสต์ เจริญเป็นตัวแก่ภายใน 2-3 วัน และภายใน 5-7 วัน พยาธิตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์กัน แล้วตัวเมียจะไชและฝังตัวอยู่ในเยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (ของคน หมู หรือหนู) ออกลูกเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะไชเข้าหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองเข้าไปในกระแสเลือด แล้วเข้าไปขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อ (ของคน หมู หรือหนู) ประมาณวันที่ 9-23 หลังจากกินซิสต์ พยาธิจะเจริญเติบโตจนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ แล้วเกิดมีซิสต์หุ้ม ถ้าซิสต์ไม่ได้ถูกกินตัวอ่อนในซิสต์จะตายและมีหินปูนมาจับ

สาเหตุ

เกิดจากการกินเนื้อหมูหรือหนูที่มีซิสต์ของพยาธิทริคิโนซิส และไม่ได้ทำให้สุก เช่น ลาบ แหนม เป็นต้น

อาการ

ขึ้นกับปริมาณพยาธิที่รับเข้าร่างกาย ถ้าปริมาณน้อยก็อาจไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แต่ถ้าปริมาณมากก็จะมีอาการแสดง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ หลังจากผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียฝังตัวในลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หลังกินเนื้อหมูที่มีซิสต์ของพยาธิประมาณ 24-72 ชั่วโมง และจะมีอาการอยู่นาน 1-7 วัน

ระยะที่ 2 ระยะที่พยาธิตัวเมียออกลูกพยาธิตัวอ่อน (larvae) ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์หลังกินซิสต์ของพยาธิ พยาธิตัวอ่อนจะไชผ่านผนังลำไส้เข้าไปในกระแสเลือด แล้วไชเข้าไปอยู่ตามกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ในกล้ามเนื้อนานเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ

หลังกินซิสต์ของพยาธิ 2-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากพยาธิตัวอ่อนฝังตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อ โดยมีไข้สูง (ซึ่งอาจเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์) หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ อาจมีอาการบวมที่หนังตา (ประมาณวันที่ 12-14 ของโรค) กลัวแสง เยื่อตาขาวอักเสบ (เคืองตา ตาแดง) ผิวหนังมีอาการคันหรือมีผื่นขึ้น

ถ้ามีปริมาณพยาธิจำนวนมาก อาการเจ็บปวดกล้ามกล้ามเนื้อจะรุนแรง จนทำให้เคลื่อนไหว หายใจ เคี้ยว กลืน หรือพูดลำบาก อาการจะเป็นอยู่นานหลายเดือนแล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้น

ระยะที่ 3 ระยะที่พยาธิตัวอ่อนมีซิสต์หุ้ม ผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้น ไข้ลดลงและอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อค่อย ๆ ทุเลาลง ซิสต์จะยังคงอยู่ในกล้ามเนื้อตลอดไป โดยพยาธิในซิสต์จะตายและมีหินปูนมาจับ ซึ่งสามารถตรวจพบโดยการเอกซเรย์

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่จะพบได้น้อย ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง ตัวอ่อนอาจเข้าในอวัยวะสำคัญ ๆ ทำให้ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าเป็นรุนแรงอาจตายหลังเกิดโรคประมาณ 4-6 สัปดาห์

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ระยะที่ 1 และ 3 มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน (นอกจากอาการปวดท้อง ท้องเดิน)

ระยะที่ 2 ไข้ หนังตาบวม ตาแดง อาจพบผื่นตามผิวหนัง  เคลื่อนไหว หายใจ เคี้ยว กลืน หรือพูดลำบาก

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ซึ่งจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติและมีจำนวนอีโอซิโนฟิล (eosinophil) สูงถึงร้อยละ 10-90

นอกจากนี้อาจทำการทดสอบทางน้ำเหลือง (serologic test) เพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อพยาธิชนิดนี้ การตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อ (เช่น ที่น่อง) หรือลำไส้ไปตรวจหาตัวพยาธิ

ถ้าสงสัยมีพยาธิในสมอง อาจเจาะหลังนำน้ำไขสันหลังไปตรวจ

การรักษาโดยแพทย์

1. ในระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ นอกจากให้การรักษาตามอาการ เช่น นอนพัก ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ให้น้ำเกลือแล้ว แพทย์จะให้ยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล, อัลเบนดาโซล เป็นต้น

2. ในระยะพยาธิอยู่ในกล้ามเนื้อ ถ้ามีการอักเสบรุนแรง ให้เพร็ดนิโซโลน พร้อมกับให้ยาฆ่าพยาธิดังกล่าว ซึ่งอาจได้ผลสู้ระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ไม่ได้

ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกมักจะหายเป็นปกติ แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนทางสมองหรือหัวใจ ก็มักมีความยุ่งยากในการรักษาและได้ผลไม่ดี

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น หลังกินเนื้อหมู หนู ม้า หรือเนื้อสัตว์ป่าดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ 24-72 ชั่วโมงมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือหลังกินเนื้อหมู หนู ม้า หรือเนื้อสัตว์ป่าดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ 5-7 วันมีอาการไข้สูง เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อมาก ปวดศีรษะมาก เจ็บหน้าอกมาก ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก หรือหายใจหอบ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคทริคิโนซิส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีอาการไข้สูง เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อมาก ปวดศีรษะมาก เจ็บหน้าอกมาก ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก หรือหายใจหอบ
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    มีอาการสงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)

การป้องกัน

    กินเนื้อหมูที่ปรุงให้สุกด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 71 องศาเซลเซียส ไม่กินเนื้อหมูดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ  (เช่น ลาบ แหนม เป็นต้น) หรือเนื้อหมูที่รมควัน หมักเกลือ หรือปรุงด้วยไมโครเวฟ
    ไม่กินเนื้อหนู ม้า หรือเนื้อสัตว์ป่าดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ
    ล้างอุปกรณ์ (เช่น เครื่องบดเนื้อ มีด เขียง) ที่ใช้เตรียมเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ ให้สะอาด ป้องกันไม่ให้มีตัวพยาธิเปรอะเปื้อน
    ไม่ใช้เนื้อสัตว์ดิบป้อนหมูที่เลี้ยง
    ควบคุมโรงฆ่าสัตว์ไม่ให้นำหมูที่ป่วยเป็นโรคทริคิโนซิสมาให้คนบริโภค

ข้อแนะนำ

นอกจากหมูและหนูแล้ว ยังอาจพบพยาธิชนิดนี้ในม้าและสัตว์ป่า (เช่น หมูป่า หมี สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น) จึงควรป้องกันการได้รับอันตรายจากโรคทริคิโนซิสด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์เหล่านี้แบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ