ผู้เขียน หัวข้อ: อาการของโรค: แท้งบุตร (Miscarriage /Spontaneous abortion)  (อ่าน 48 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 277
    • ดูรายละเอียด
อาการของโรค: แท้งบุตร (Miscarriage /Spontaneous abortion)
« เมื่อ: วันที่ 3 ธันวาคม 2024, 20:28:05 น. »
อาการของโรค: แท้งบุตร (Miscarriage /Spontaneous abortion)

แท้งบุตร หมายถึง การที่ตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ถูกขับออกมาก่อนอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ พบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงไตรมาสแรก (12 สัปดาห์) ของการตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี (อายุยิ่งมาก ยิ่งมีโอกาสแท้งบุตรมาก) มีประวัติเคยแท้งบุตรมาก่อน มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์) มีน้ำหนักน้อยหรือมากเกิน หรือมีการสูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด หรือเสพสารเสพติด มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรมากกว่าปกติ

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เป็นการแท้งที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 เกิดจากตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์มีความผิดปกติ (เช่น มีโครโมโซมที่ผิดปกติ)

บางส่วนเกิดจากมารดามีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ภาวะพร่องไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เอสแอลอี โรคคุชชิง กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง) หรือโรคติดเชื้อต่าง ๆ (เช่น หัด หัดเยอรมัน มาลาเรีย), มีภาวะหมู่เลือดของทารกและมารดาเข้ากันไม่ได้ (Rh incompatability), มารดามีมดลูกที่ผิดปกติ (เช่น มีก้อนเนื้องอก การอักเสบ ความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด), มารดาสูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด หรือเสพสารเสพติด, หรือมารดาได้รับพิษจากรังสีหรือสารเคมี

ส่วนน้อยอาจเกิดจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง (เช่น การบาดเจ็บ หกล้ม) หรือการตั้งใจกินยาขับ หรือให้คนทำแท้ง

บางรายอาจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนก็ได้


อาการ

ถ้าตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดเพียงเล็กน้อย ร่วมกับปวดในท้องน้อยและปวดหลังเล็กน้อย ไม่มีก้อนชิ้นเนื้อของตัวอ่อนหลุดออกมา หากผู้ป่วยได้นอนพักเต็มที่ 3-4 วัน เลือดอาจหยุดได้เอง และการตั้งครรภ์อาจดำเนินต่อไปได้เป็นปกติ ลักษณะนี้ถือว่ายังไม่มีการแท้งเกิดขึ้น เรียกว่า การแท้งคุกคาม (threatened abortion)

แต่ถ้าตัวอ่อนเสียชีวิตลง การแท้งจะเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการตกเลือดมาก ปวดบิดในท้องรุนแรงคล้ายคลอดบุตร และอาจเห็นก้อนชิ้นเนื้อของตัวอ่อนหลุดออกมา

ถ้าตัวอ่อนและเศษรกหลุดออกมาได้หมด อาการตกเลือดจะค่อย ๆ หยุดลง และค่อย ๆ หายปวดท้อง เรียกว่า การแท้งโดยสมบูรณ์ (complete abortion)

แต่ถ้ายังมีเศษรกค้างอยู่ ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการปวดท้องและตกเลือดต่อไป เรียกว่า การแท้งไม่สมบูรณ์ (incomplete abortion) ซึ่งอาจต้องทำการขูดมดลูกนำเศษรกที่ค้างออก

ถ้าผู้ป่วยเสียเลือดมาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และซีด


ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่ทำแท้งโดยใช้เครื่องมือหรือสารที่ไม่ปลอดจากเชื้อ มดลูกอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรง กลายเป็นการแท้งติดเชื้อ (septic abortion) ซึ่งอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ และอาจทำให้เสียชีวิตได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

ตรวจพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด อาจเห็นก้อนชิ้นเนื้อของตัวอ่อนหลุดออกมา (ควรนำชิ้นเนื้อไปให้แพทย์ตรวจดู)

ผู้ป่วยที่เสียเลือดมาก มักตรวจพบภาวะซีด

ถ้ามีการติดเชื้อ มักตรวจพบไข้ กดเจ็บบริเวณที่ปวดท้องน้อย มีตกขาวมีกลิ่นเหม็น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายใน และทำการตรวจพิเศษ (เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์)

การตรวจภายใน หากพบว่าปากมดลูกเป็นปกติ (ยังไม่เปิดออก) มีแนวโน้มว่าจะไม่เกิดการแท้ง (ตัวอ่อนเสียชีวิตหลุดออกมา) เรียกว่า การแท้งคุกคาม (threatened abortion) แต่ถ้าพบว่าปากมดลูกเปิดออกแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดการแท้งตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่า การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (inevitable abortion)


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าเลือดออกไม่มาก ปวดท้องไม่มาก และยังไม่มีตัวอ่อนหลุดออกมาให้เห็น แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย และให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน นัดมาดูอาการเป็นระยะ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวด ให้พาราเซตามอลกินบรรเทา

ถ้าเลือดหยุดและหายปวดท้อง ทารกก็มักจะมีชีวิตรอด และการตั้งครรภ์สามารถดำเนินต่อไปได้

2. ถ้าเลือดออกมาก ปวดท้องมาก และมีก้อนชิ้นส่วนของตัวอ่อนหลุดออกมาให้เห็น แสดงว่ามีการแท้งเกิดขึ้นแล้ว แพทย์จะทำการขูดมดลูกเอาเศษรกออก

3. ถ้ามีตัวอ่อนหลุดออกมาแล้ว ผู้ป่วยหายปวดท้อง และเลือดออกน้อยลงก็ให้ผู้ป่วยนอนพัก ถ้าซีดให้ยาบำรุงโลหิต

ถ้ายังมีเลือดออกอยู่เรื่อย ๆ ให้ฉีดยาบีบมดลูก เช่น เมทิลเออร์โกเมทรีน (0.2 มก.) 1/2-1 หลอด เข้ากล้ามเนื้อ

4. ในรายที่สงสัยมีการอักเสบของเยื่อบุมดลูกร่วมด้วย เช่น มีไข้ มีตกขาวกลิ่นเหม็น ให้การรักษาแบบเยื่อบุมดลูกอักเสบ โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ

ผลการรักษา ในรายที่มีเลือดออกในระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หากเป็นการแท้งคุกคาม (แพทย์ตรวจภายในพบว่าปากมดลูกยังไม่เปิดออก และตัวอ่อนยังมีชีวิตปกติ) ส่วนใหญ่เลือดจะหยุดได้เอง ไม่เกิดการแท้งตามมา และสามารถตั้งครรภ์ต่อไปเป็นปกติ ในกรณีที่การแท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ (แพทย์ตรวจพบปากมดลูกเปิด) ก็จะเกิดการแท้งตามมา ส่วนในกรณีที่มีการติดเชื้อของมดลูก หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรก ก็มักจะหายเป็นปกติได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น หลังตั้งครรภ์ได้ระยะหนึ่ง มีอาการปวดท้องน้อย และมีเลือดออกจากช่องคลอด ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าแท้งบุตร ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ถ้ามีอาการแท้งคุกคาม (ตัวอ่อนยังมีชีวิต) ควรนอนพักให้มากนาน 3-4 วัน หยุดทำกิจกรรมที่ใช้แรง งดออกกำลังกาย และเว้นการมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์
    หลังมีการแท้งบุตร ควรหลีกเลี่ยงการลงแช่ตัวในน้ำ การว่ายน้ำ เล่นน้ำในทะเล แม่น้ำลำคลอง และสระน้ำ เว้นการมีเพศสัมพันธ์ และการสอดใส่วัสดุ (เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด) หลังการแท้งบุตร เป็นเวลา 2 สัปดาห์
    ควรเริ่มคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังการแท้ง และควรคุมไว้นานอย่างน้อย 2-3 เดือนก่อนจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไข้สูง ซีด อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดท้องมาก หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็น
    เลือดออกมาก หรือนานเกิน 2 สัปดาห์
    มีอาการปวดท้องน้อยฉับพลันรุนแรง ลุกนั่งหน้ามืดจะเป็นลม หน้าซีด หรือใจสั่นใจหวิว
    มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
    มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากการแท้งบุตรมักมีสาเหตุที่ไม่อาจควบคุมได้

หญิงที่ตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงของการแท้งบุตรลงด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเป็นพื้นฐานตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ ด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ถ้ามีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์) ติดตามรักษาและดูแลตนเองให้ควบคุมโรคได้
    งดบริโภคสุรา ยาสูบ และยาเสพติด รวมทั้งควรงดหรือลดการดื่มกาแฟ (มีงานวิจัยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 2 แก้ว เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร)
    ฝากครรภ์ตั้งแต่แรก และติดตามดูแลรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
    กินยาเม็ดกรดโฟลิก (ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้กินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติของระบบประสาท

ข้อแนะนำ

1. การทำแท้งกันเองเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะอาจติดเชื้ออักเสบถึงตายได้ จึงควรหลีกเลี่ยง หากมีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง

2. ผู้ที่เคยแท้งเองมาก่อน อาจมีโอกาสแท้งได้ในครรภ์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเคยแท้งติดต่อกันตั้งแต่ 2 ท้องขึ้นไป การตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปควรฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ และพักผ่อนให้มาก ๆ ผู้ที่เคยแท้งติดต่อกัน 3 ท้องขึ้นไปเรียกว่า การแท้งเป็นอาจิณ (habitual abortion) ซึ่งมักมีสาเหตุที่เกี่ยวกับความผิดปกติของมดลูกหรือทารกในครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและแก้ไข สำหรับผู้ที่แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุ สามารถตั้งครรภ์ที่ปกติได้ถึงร้อยละ 60-80 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้

3. ผู้ป่วยที่ตรวจพบหรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรือมีประวัติขาดประจำเดือน 1-2 เดือน เกิดมีอาการปวดท้อง มีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย และมีอาการลุกนั่งหน้ามืดจะเป็นลม) กระสับกระส่าย หน้าซีด ใจหวิวใจสั่น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ควรคิดว่าอาจเป็นครรภ์นอกมดลูกมากกว่าการแท้งบุตร และควรไปพบแพทย์ทันที