ผู้เขียน หัวข้อ: โรคโซริอาซิส/โรคสะเก็ดเงิน/โรคเกล็ดเงิน (Psoriasis)  (อ่าน 49 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 285
    • ดูรายละเอียด
โรคโซริอาซิส/โรคสะเก็ดเงิน/โรคเกล็ดเงิน (Psoriasis)
« เมื่อ: วันที่ 19 ธันวาคม 2024, 16:16:17 น. »
โรคโซริอาซิส/โรคสะเก็ดเงิน/โรคเกล็ดเงิน (Psoriasis)

โซริอาซิส (โรคสะเก็ดเงิน โรคเกล็ดเงิน ก็เรียก) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือปื้นและมีเกล็ดสีเงินปกคลุม มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นแรมปีหรือตลอดชีวิต โดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และไม่ติดต่อให้ผู้สัมผัสใกล้ชิด

พบได้ประมาณร้อยละ 1-3 ของคนทั่วไป ชายและหญิงพบได้เท่า ๆ กัน พบได้ในคนทุกวัย มักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 10-40 ปี

ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 พบว่ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว และอาการมักจะกำเริบเมื่อมีสาเหตุกระตุ้น ที่พบบ่อยคือความเครียด

สาเหตุ

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

ในคนปกติ เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าจะมีการงอกใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังบนชั้นนอกสุดที่แก่ตัวตายและหลุดออกไปเป็นวัฏจักร โดยเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาที่ชั้นนอกสุดของผิวหนังประมาณ 26 วัน

แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ พบว่าบริเวณรอบโรคจะมีการแบ่งตัวหรืองอกของเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวขึ้นมาที่ชั้นนอกสุดของผิวหนังเพียงประมาณ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกในอัตราความเร็วไม่ทันกับการงอกของเซลล์ใหม่ จึงทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่มหรือปื้น และมีเกล็ดสีเงินปกคลุมซึ่งหลุดลอกออกง่าย

สันนิษฐานว่าความผิดปกติดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ลิมโฟไซต์ที่มีชื่อว่า T cells (ปกติทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกิน เมื่อเคลื่อนตัวมาที่ชั้นใต้ผิวหนังก็จะทำงานร่วมกับสารอื่น ๆ กระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการแบ่งตัวและเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ และก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้

กลไกของการเกิดโรคโซริอาซิส เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ ร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะซับซ้อน

ปัจจุบัน พบว่ามียีนผิดปกติของโรคนี้อยู่มากกว่า 8 ชนิด ผู้ป่วยแต่ละรายจะมียีนผิดปกติที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้มีอาการแสดงได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มียีนของโรคนี้แฝงอยู่ในร่างกายมีถึง 1 ใน 3 ที่ไม่มีอาการ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการ

สาเหตุกระตุ้นที่อาจพบได้ เช่น ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ การติดเชื้อ (เช่น คออักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส การติดเชื้อเอชไอวี) การบาดเจ็บที่ผิวหนัง การใช้ยาปิดกั้นบีตาหรือลิเทียม พบว่าเป็นสาเหตุทำให้โรคกำเริบเป็นครั้งแรก

ส่วนปัจจัยที่ทำให้โรคมีอาการกำเริบซ้ำหรือรุนแรงมากขึ้น เช่น ความเครียด การติดเชื้อต่าง ๆ (รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวี) การแกะเกาขูดข่วนที่ผิวหนัง แมลงกัดต่อย แพ้แดดหรือถูกแดดมาก อากาศหนาวเย็น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด ความอ้วน การใช้ยา (เช่น คลอโรควีน ยาปิดกั้นบีตา ยาต้านเอซ ลิเทียม ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาที่เข้าไอโอไดด์ เป็นต้น) การหยุดยากินสเตียรอยด์ (ที่เคยใช้ได้ผลอยู่ก่อนก็อาจทำให้อาการกำเริบได้)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากอาจไม่พบว่ามีสาเหตุอะไรเป็นตัวกระตุ้นก็ได้

อาการ

มีอาการแสดงได้หลายชนิด ซึ่งอาจเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดร่วมกัน ดังนี้

    โซริอาซิสชนิดปื้นหนา (plaque psoriasis) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด อาการตอนเริ่มกำเริบใหม่ ๆ จะเป็นตุ่มแดง ขอบเขตชัดเจน และมีขุยสีขาว (สีเงิน) อยู่ที่ผิว ต่อมาตุ่มจะค่อย ๆ ขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่และหนา และขุยสีขาวที่ผิวจะหนาตัวขึ้นเห็นเป็นเกล็ดสีเงิน (ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า โรคเกล็ดเงินหรือสะเก็ดเงิน) เกล็ดนี้จะร่วงเวลาถอดเสื้อหรือเดินไปไหนมาไหน หรือร่วงอยู่ตามเก้าอี้หรือที่นอน ถ้าขูดเอาเกล็ดออกจะมีรอยเลือดออกซิบ ๆ

รอยโรคอาจมีอาการคันหรือเจ็บ และอาจดูคล้ายอาการของโรคกลาก ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดที่ผิวหนังได้ทุกส่วน แต่มักจะพบที่หนังศีรษะ และผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก ที่พบบ่อยได้แก่ ข้อศอก ข้อเข่า อาจพบที่บริเวณก้นกบ หน้าแข้ง รอยโรคจะมีขนาดต่าง ๆ กัน อาจขึ้นเพียงไม่กี่แห่ง หรือกระจายทั่วไปก็ได้ นอกจากนี้รอยโรคลักษณะดังกล่าวยังชอบขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือชอกช้ำ เช่น รอยบาดแผล รอยขีดข่วน เป็นต้น บางรายอาจมีรอยโรคภายในเยื่อบุช่องปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศก็ได้

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีรอยโรคลักษณะดังกล่าวเป็นปื้นหนา ๆ ขึ้น ๆ ยุบ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด

โซริอาซิสชนิดปื้นหนา

    โซริอาซิสชนิดตุ่มเล็ก (guttate psoriasis) มักพบในคนอายุต่ำกว่า 30 ปี และมักเกิดอาการครั้งแรกหลังจากเป็นคออักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ลักษณะเป็นตุ่มหรือผื่นแดงเล็ก ๆ รูปร่างคล้ายหยดน้ำ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา หนังศีรษะ และมีเกล็ดเงินเล็ก ๆ ปกคลุม อาจเกิดอาการเพียงครั้งเดียวแล้วหายขาดไปเลย หรืออาจกำเริบซ้ำ ๆ โดยเฉพาะเวลามีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ รอยโรคอาจดูคล้ายผื่นพีอาร์ ซิฟิลิส ผื่นแพ้ยา

โซริอาซิสชนิดตุ่มเล็ก

    โซริอาซิสชนิดรอยพับ (inverse/flexural psoriasis) ลักษณะเป็นรอยแดง ผิวราบเรียบ มีขอบเขตชัดเจน ไม่มีเกล็ดเงิน พบที่รักแร้ ขาหนีบ ใต้นม ข้อพับต่าง ๆ และรอบ ๆ อวัยวะเพศ มักพบในผู้ที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน อาการจะกำเริบมากขึ้นเมื่อมีเหงื่อออกหรือมีการเสียดสี รอยโรคดูคล้ายโรคสังคัง โรคเชื้อราแคนดิดา

    โซริอาซิสชนิดตุ่มหนอง (pustular psoriasis) ซึ่งพบได้น้อย ลักษณะขึ้นเป็นตุ่มน้ำขุ่นแบบตุ่มหนอง โดยไม่มีการติดเชื้อ (sterile pustule) แรกเริ่มจะขึ้นเป็นผื่นแดงเจ็บก่อน หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็จะพุขึ้นเป็นหนอง แล้วหายเองภายใน 1-2 วัน อาการอาจกำเริบ (เป็นวงจร ผื่นแดง-ตุ่มหนอง-ตกสะเก็ด) ได้ทุก ๆ 2-3 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์ อาจเกิดเฉพาะที่ เช่น ฝ่ามือฝ่าเท้า ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า หรือกระจายทั่วตัว ซึ่งอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลด คันมากร่วมด้วย รอยโรคดูคล้ายผิวหนังอักเสบที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนพุพอง

    โซริอาซิสชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว (erythrodermic psoriasis) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด ลักษณะเป็นผื่นแดงและมีเกล็ด คัน ปวดแสบปวดร้อน ขึ้นกระจายทั่วตัว ผู้ป่วยอาจเป็นโซริอาซิสชนิดปื้นหนามาก่อน แต่ควบคุมอาการได้ไม่ดี มักกำเริบเวลามีความเครียด เกิดบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แพ้ยา หรือติดเชื้อ หรือหยุดยาสเตียรอยด์ที่เคยกินเป็นประจำ อาจมีภาวะแทรกซ้อนแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เช่น ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

โซริอาซิสชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว

    โซริอาซิสชนิดเกิดที่หนังศีรษะ (scalp psoriasis) พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการเกิดขึ้นก่อนมีผื่นตามตัว ลักษณะเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัดเจน และมีเกล็ดเงินขึ้นตามแนวไรผม บางครั้งอาจลามมาที่หน้าผาก มักไม่มีอาการผมร่วง อาจมีอาการคัน เวลาเกาหนังศีรษะอาจมีเกล็ดหนังร่วงเกาะตามผมและไหล่ ลักษณะคล้ายรังแค โรคกลากที่ศีรษะ

    โซริอาซิสชนิดเกิดที่เล็บ (nail psoriasis) เกิดได้ทั้งที่เล็บมือเล็บเท้า มีอาการได้หลายลักษณะ เช่น มีจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ เล็บเป็นหลุม เล็บขรุขระ เล็บแยกตัวออกจากเนื้อใต้เล็บ (onycholysis) ผิวใต้เล็บหนา (subungual keratosis) มักเกิดร่วมกับเนื้อเยื่อขอบเล็บอักเสบ (paronychia) บางครั้งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราร่วมด้วย อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคกลากที่เล็บ โรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ ในรายที่เป็นรุนแรงเนื้อเล็บจะเปื่อยยุ่ยถูกทำลาย

โซริอาซิสที่เล็บและข้อนิ้วเท้า

    ข้ออักเสบจากโซริอาซิส (psoriatic arthritis) พบได้ประมาณร้อยละ 5-15 ของผู้ป่วยโซริอาซิส ส่วนมากพบร่วมกับรอยโรคที่ผิวหนังเรื้อรัง ส่วนน้อยอาจมีอาการข้ออักเสบนำมาก่อนอาการที่ผิวหนัง มักพบที่ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ซึ่งมีลักษณะปวด บวม และข้อแข็ง คล้ายโรคปวดข้อรูมาตอยด์ บางรายอาจมีการอักเสบของข้อเข่า สะโพก และข้อกระดูกสันหลัง อาจเป็นเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อพร้อมกันก็ได้ อาการข้ออักเสบอาจค่อย ๆ เป็นรุนแรงขึ้นจนข้อพิการในที่สุดก็ได้

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่เนื่องจากมีรอยโรคเรื้อรังและแลดูน่าเกลียด อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการออกสังคมได้

ในรายที่มีอาการคันมาก อาจเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น โซริอาซิสชนิดตุ่มหนองแพร่กระจายทั่วไป หรือโซริอาซิสชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว อาจทำให้เกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และการติดเชื้อรุนแรงได้

ในรายที่เป็นข้ออักเสบอาจทำให้ข้อพิการ

ในรายที่เป็นที่เล็บอาจทำให้เล็บพิการ

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในรายที่อาการไม่ชัดเจนอาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) โดยการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังส่งพิสูจน์

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาตามชนิดและความรุนแรงของโรค ซึ่งมีแนวทางดังนี้

1. สำหรับรอยโรคที่ผิวหนัง ในรายที่เป็นน้อย มีรอยโรคไม่กี่แห่ง จะให้ทาครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิไนโลนอะเซโทไนด์ หรือขี้ผึ้งน้ำมันดิน หรือโคลทาร์ (coal tar) ชนิด 1-5% หรืออาจใช้ทั้ง 2 อย่างสลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา

ในรายที่เป็นมากขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสเตียรอยด์ หรือใช้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นปื้นหนา บางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยอาบแดด* (ช่วงเวลา 10.00-14.00 น.) เริ่มอาบด้านละ 5-10 นาทีก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะนานขึ้น จนถึงขั้นทำให้เกิดรอยแดงเรื่อ ๆ ที่ผิวหนังภายใน 24 ชั่วโมงหลังอาบแดด (ส่วนใหญ่จะอาบแดดนานประมาณ 15-20 นาที) ทำประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผื่นยุบได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ข้อควรระวังคือ อย่าอาบแดดนานเกินไป และควรใช้ผ้าคลุมหน้าป้องกันมิให้ผิวหน้าถูกแดดมากไป บางรายอาจแพ้แดดทำให้อาการกำเริบได้

บางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นโซริอาซิสชนิดปื้นหนา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทาขี้ผึ้งแอนทราลิน (anthralin ointment) พร้อมกับการอาบแดด และโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจใช้วิธีฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB) แทนการอาบแดดก็ได้ ถ้าได้ผลผื่นจะยุบภายใน 3-4 สัปดาห์ ข้อควรระวัง ยานี้อาจระคายเคือง ถ้าพบอาการระคายเคืองควรหยุดยา ยานี้ห้ามใช้ทาบนใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ

บางกรณีแพทย์อาจเลือกใช้ยาทาชนิดอื่น เช่น calcipotriene ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินดี tazarotene ซึ่งเป็นกลุ่มเรตินอยด์ (ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์) เป็นต้น โดยอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือร่วมกับยาอื่น หรือร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต

นอกจากนี้จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าผิวแห้งให้ทาด้วย petrolium liquid paraffin เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ถ้าเกล็ดหนามากให้ยาละลายขุย (เช่น ครีมยูเรียหรือกรดซาลิไซลิก) ถ้าคันให้ยาแก้แพ้ ถ้าปวดหรือมีไข้ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ เป็นต้น

2. สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ ให้ผู้ป่วยสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน (เช่น ทาร์แชมพู) สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ในรายที่มีขุยที่ศีรษะมาก อาจใช้โลชั่นที่เข้าสเตียรอยด์ (steroid scalp lotion) ทาวันละ 1-2 ครั้ง

3. สำหรับอาการข้ออักเสบ ให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ

4. ในรายที่เป็นรุนแรง หรือดื้อต่อการรักษา อาจต้องใช้ยาชนิดกิน เช่น การให้กินยาซอลาเรน (psolaren) ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ การให้กินยากลุ่มเรตินอยด์ เมโทเทรกเซต (methotrexate) หรือไซโคลสปอรีน (cyclosporine) วิธีการรักษาเหล่านี้ควรให้แพทย์โรคผิวหนังเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังของยาแต่ละชนิดต่าง ๆ กันไป

ในปัจจุบันมียาใหม่ มีผลข้างเคียงน้อย แต่ราคาแพง เช่น etanercept, infliximab เป็นต้น ซึ่งเป็นสารชีวภาพออกฤทธิ์ต้านอักเสบโดยยับยั้งการทำงานของลิมโฟไซต์ แพทย์อาจเลือกใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล หรือมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรงของยาอื่น

*แสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต มีฤทธิ์ทำให้ลิมโฟไซต์ชนิด T cells ตาย ช่วยชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังลง รวมทั้งช่วยลดการเกิดเกล็ดเงิน และการอักเสบของผิวหนัง

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีผื่น ตุ่ม หรือรอยปื้นขึ้นตามผิวหนังหรือรอยพับ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโซริอาซิส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน หรือตรากตรำงานหนัก
    พยายามอย่าให้เกิดภาวะเครียด โดยการออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ชี่กง รำมวยจีน ทำสมาธิ ทำงานอดิเรก เป็นต้น
    หลีกเลี่ยงการขีดข่วนถูกผิวหนัง
    งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
    ควรให้ผิวหนังได้ถูกแดด (อาบแดด) ตามคำแนะนำของแพทย์ (ผู้ที่แพ้แดดควรหลีกเลี่ยงการถูกแดด)
    หลีกเลี่ยงการกินยาหม้อที่มีสารหนู ซึ่งอาจทำให้อาการทุเลา แต่ถ้ากินติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เป็นมะเร็งได้
    หลีกเลี่ยงการซื้อยาชุด และยาลูกกลอน (ที่มียาสเตียรอยด์ที่ผสม) มากินเอง แม้ว่าจะทำให้โรคทุเลา แต่เมื่อหยุดยาก็อาจทำให้โรคกำเริบรุนแรงได้ โดยทั่วไปแพทย์จะหลีกเลี่ยงการให้สเตียรอยด์ชนิดกินแก่ผู้ป่วย เพราะกลัวโรคกำเริบหลังการหยุดยา แต่จะให้ใช้สเตียรอยด์ชนิดทาหรือฉีดเข้าเฉพาะที่

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
    สงสัยมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีไข้สูง ผื่นตุ่มกลายเป็นหนอง มีผื่นตุ่มลุกลามมากขึ้น มีอาการปวดข้อ เล็บมีความผิดปกติ เป็นต้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกำเริบรุนแรงด้วยการดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบ

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง โดยมีบางช่วงที่อาจหายดีเหมือนปกติ แต่สักพักหนึ่งก็กลับกำเริบขึ้นอีก บางรายอาจมีระยะสงบจากอาการนานเป็นปี ๆ แต่บางรายอาจกำเริบบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภาวะเครียดทางร่างกายหรือจิตใจ ดังนั้นจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์คนใดคนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย

2. โรคนี้แม้จะเป็นเรื้อรัง แต่มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แม้จะมีรอยโรคแลดูน่าเกลียด แต่ก็ไม่ได้เป็นโรคติดต่ออย่างโรคเชื้อรา หรือโรคเรื้อน (บางคนเรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคเรื้อนกวาง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคเรื้อน) สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างใกล้ชิดได้ และก็ไม่ได้เป็นโรคร้ายแบบมะเร็ง หรือเอดส์ ดังนั้นจึงควรอธิบายให้ญาติพี่น้องของผู้ป่วยและคนทั่วไปเข้าใจ จะได้ให้การดูแลและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย อย่าแสดงความรังเกียจจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีปมด้อยหรือซึมเศร้า

3. ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป อาจมีอาการเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือมากกว่า 1 ชนิด หรือเปลี่ยนชนิดไปมาก็ได้ บางรายอาจมีผื่นขึ้นเฉพาะที่ ไม่ลุกลามออกไป แต่บางรายอาจทวีความรุนแรงไปเรื่อย โดยทั่วไปถ้าเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนอายุน้อย ก็มีโอกาสเกิดความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์ทาเป็นครั้งคราว สามารถทำงานและดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป

4. โรคนี้อาจแสดงอาการได้หลายแบบ และอาจคล้ายกับโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น กลาก โรคเชื้อราแคนดิดา ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นพีอาร์ รังแค เป็นต้น ดังนั้นถ้าให้การดูแลรักษาโรคเหล่านี้ไม่ได้ผล ก็ควรจะนึกถึงโรคโซริอาซิส

5. โรงพยาบาลควรส่งเสริมให้กลุ่มผู้ป่วยได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการดูแลตนเอง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หากเป็นไปได้ควรจัดให้ผู้ป่วยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด