ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: Acanthosis Nigricans (รอยดำบริเวณข้อพับ)  (อ่าน 89 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 253
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: Acanthosis Nigricans (รอยดำบริเวณข้อพับ)
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 11:57:41 น. »
หมอออนไลน์: Acanthosis Nigricans (รอยดำบริเวณข้อพับ)

Acanthosis Nigricans (อะแคนโทสิส นิกริแค) เป็นภาวะที่ผิวหนังบริเวณรอยพับร่างกายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและผิวหนังหนาขึ้นกว่าปกติ มักพบบริเวณใต้รักแร้ คอ หรือขาหนีบ พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีโรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน และเด็กที่มีความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

Acanthosis Nigricans อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง อย่างโรคเบาหวาน ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งในตับหรือกระเพาะอาหารแต่พบได้ค่อนข้างน้อย หากรักษาตามสาเหตุของโรคอย่างเหมาะสมจะทำให้อาการบนผิวหนังดีขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง


อาการของ Acanthosis Nigricans

Acanthosis Nigricans มักไม่มีอาการอื่นนอกจากอาการที่สังเกตเห็นได้บนผิวหนัง โดยจะเกิดรอยปื้นสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเหมือนกำมะหยี่ และผิวหนังหนากว่าบริเวณอื่น มักพบรอยปื้นตามรอยพับต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ด้านหลังคอ ใต้รักแร้ ข้อพับแขนและขา ขาหนีบ ข้อนิ้วมือ ริมฝีปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า

ในบางกรณีอาจมีอาการคันหรือมีกลิ่นเหม็นจากบริเวณผิวหนังที่มีอาการ อาการของ Acanthosis Nigricans มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่หากสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ บนผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา


สาเหตุของ Acanthosis Nigricans

Acanthosis Nigricans เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่มีปริมาณเม็ดสีมากอย่างรวดเร็ว

เป็นภาวะที่พบได้ทุกเพศทุกวัย และสามารถพบได้ทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดีหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพต่อไปนี้

    ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจากตับอ่อน มีหน้าที่ดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อเป็นพลังงานในร่างกาย หากมีภาวะดื้ออินซูลิน ร่างกายจะตอบสนองต่ออินซูลินน้อยกว่าปกติ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสะสมสูงขึ้นและอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
    ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) และโรคแอดดิสัน (Addison's Disease) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของต่อมหมวกไต เป็นต้น
    ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง
    การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคไทรอยด์ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาที่ช่วยลดผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด โกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone) และวิตามินบี 3 ในปริมาณมาก เป็นต้น
    โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว ได้แก่

    โรคอ้วน โดยพบว่าหากยิ่งมีน้ำหนักตัวมาก ความเสี่ยงของการเกิดอาการอาจยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
    การได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากสมาชิกในครอบครัวที่เคยมีประวัติของภาวะนี้มาก่อน
    เชื้อชาติ พบบ่อยในผู้ที่มีเชื้อชาติแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แอฟริกัน และแคริบเบียน
    สีผิว พบได้ในคนผิวดำมากกว่าคนผิวขาว


การวินิจฉัย Acanthosis Nigricans

Acanthosis Nigricans เป็นภาวะที่อาการผิดปกติมักปรากฏให้เห็นบนผิวหนังเท่านั้น การวินิจฉัยจึงใช้การสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และสอบถามเกี่ยวกับยาหรืออาหารเสริมที่รับประทาน นอกเหนือจากยาที่ได้รับตามแพทย์สั่ง

นอกจากการตรวจเบื้องต้นบริเวณผิวหนังที่มีอาการแล้ว ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีโรคเบาหวานหรือมีภาวะดื้ออินซูลิน แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Insulin Test) แต่หากสาเหตุของโรคยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ หรือการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากผิวหนังที่มีอาการเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ (Skin Biopsy)


การรักษา Acanthosis Nigricans

แม้ว่า Acanthosis Nigricans จะไม่ใช่โรค แต่ก็เป็นภาวะผิดปกติที่ควรหาสาเหตุและรักษา โดยเป้าหมายจะเน้นการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ และทำให้ผิวหนังที่มีสีเข้มผิดปกติค่อย ๆ จางลง ซึ่งสามารถแยกวิธีการรักษาตามโรคหรือความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วยได้ ดังนี้

    การลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีโรคอ้วนหรือผู้ที่มีค่า BMI ที่ 30 ขึ้นไป และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน วิธีเหล่านี้อาจช่วยรักษาภาวะ Acanthosis Nigricans ได้
    การเปลี่ยนยาหรืองดรับประทานยาและอาหารเสริมที่อาจส่งผลต่อการเกิดอาการ
    การผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเซลล์มะเร็งในร่างกายที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ Acanthosis Nigricans ซึ่งอาการบนผิวหนังมักดีขึ้นหลังได้รับการผ่าตัด
    การรับประทานยาเพื่อรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ยารักษาระดับฮอร์โมนและยารักษาระดับอินซูลิน เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคัน รู้สึกไม่สบายตัว หรือมีกลิ่นเหม็นบริเวณผิวหนังที่มีอาการ แพทย์สั่งจ่ายยาชนิดต่าง ๆ หรือรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

    ยาทาผิวหนังชนิดครีมที่ช่วยปรับสีผิวให้สว่างและทำให้ผิวนุ่มขึ้น เช่น เรตินเอ (Retin-A) วิตามินดี กรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHA) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) และยูเรียความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์
    สบู่ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรีย
    ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาปฏิชีวนะและยารักษาสิว เป็นต้น
    การเลเซอร์ผิวหนังเพื่อรักษาผิวหนังที่นูนหรือหนาผิดปกติ


ภาวะแทรกซ้อนของ Acanthosis Nigricans

ภาวะแทรกซ้อนจาก Acanthosis Nigricans อาจเกิดได้แตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยผู้ป่วยบางรายอาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคมะเร็งบางชนิด


การป้องกัน Acanthosis Nigricans

เนื่องจาก Acanthosis Nigricans มักพบในผู้ที่มีโรคอ้วน วิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือ การควบคุมและปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงอาหารมีไขมันและน้ำตาลสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือยาอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับการเกิด Acanthosis Nigricans อย่างภาวะขาดไทรอยด์ ควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง